ปานโอตะ คืออะไร เกิดจากอะไร จะรักษาได้ไหม รักษาอย่างไร?

ปานโอตะ (Nevus of Ota) เป็นปานแต่กำเนิด

อีกหนึ่งปัญหาผิวที่สร้างความกังวลใจไม่แพ้ฝ้า กระ จุดด่างดำแล้ว ก้ยังมี “ปานโอตะ” ที่เป็นรอยตำหนิที่เกิดจากความผิดปกติของผิวที่มีสีต่างจากผิวหนังบริเวณอื่นโดยเฉพาะคนที่มีปานโอตะบนใบหน้า หรือมีปานโอตะเป็นรอยใหญ่ในจุดที่สังเกตเห็นได้ชัด ทำให้เสียความมั่นใจได้เพราะทำให้ผิวไม่เรียบเนียน เป็นจุดดึงความสนใจ สำหรับคนที่มีปานโอตะแล้วกังวลใจ อยากหาวิธีรักษาบทความนี้หมอจะอธิบายรวมถึงวิธีการรักษาที่ถูกต้องให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ

ปานโอตะ คืออะไร

ปานโอตะ (Nevus of Ota) เป็นปานแต่กำเนิดแต่ไม่ใช่ความผิดปกติที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิดปกติในชั้นใต้ผิวหนัง (dermal melanocytes) ถือว่าไม่ใช่ความผิดปกติที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ปรากฏเป็นรอยปื้นดำ น้ำเงินหรือม่วงบนผิวหนังตามร่างกาย พบได้บ่อยในชาวเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีจีน และไทย ปานชนิดนี้ไม่สามารถจางไปเองได้แต่ความเข้มของปาน อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการมีประจำเดือน ความอ่อนเพลีย การนอนไม่หลับ หรือฤดูกาล 

ลักษณะ ปานโอตะ

ปานโอตะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม สีเขียว สีฟ้าเทา หรือสีน้ำเงินที่ค่อย ๆ ขยายขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุ จนกลายเป็นปื้น ส่วนใหญ่ (90%) มักเป็นข้างเดียวของใบหน้า ตั้งแต่หน้าผาก ขมับและแก้ม ซึ่งทำให้ผู้ที่มีปานโอตะอาจสูญเสียความมั่นใจได้ 

สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจมีปานโอตะที่เกิดขึ้นในบริเวณตาขาวด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลาปานโอตะอาจพัฒนาไปเป็นโรคต้อหินและทำให้ตาบอดได้

ปานโอตะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม สีเขียว สีฟ้าเทา หรือสีน้ำเงินที่ค่อย ๆ ขยายขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุ

ปานมีแบบไหนอีกบ้าง

ถึงแม้ปานโอตะจะเป็นปานที่พบได้บ่อย แต่ก็มีปานอีกหลายชนิดที่สามารถพบได้เช่นกัน แต่หลาย ๆ ท่านอาจจะแยกไม่ออกว่าเป็นปานชนิดไหน หมอจะอธิบายลักษณะของปานแต่ละชนิดเพื่อให้แยกประเภทของปานและเตรียมตัวรักษาครับ

  • ปานมองโกเลียน (Mongolian) เป็นปานที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือน้ำเงินเข้ม มักพบบริเวณก้นและสะโพก แต่อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ ปานชนิดนี้สามารถจางลงไปได้เองเมื่อเข้าสู่วัยเด็กตอนต้น ไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษาครับ
  • ปานสีกาแฟใส่นม (Café au lait) หรือปานคาเฟโอเล่ โดยปานชนิดนี้อาจปรากฎขึ้นตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 2-3 เดือน มีลักษณะเป็น ผื่นราบสีน้ำตาลอ่อนรูปร่างกลมหรือทรงรีขอบเขตค่อนข้างชัดเจนและจะขยายขนาดขึ้นตามอายุและจะคงอยู่ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่จะไม่พบมีความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย แต่หากผู้ป่วยที่มีปานชนิดนี้จำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่ อาจพบมีโรคพันธุกรรมบางชนิดได้ 
  • ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-wine stains) มีลักษณะเป็นปื้นใหญ่สีแดงเข้มหรือสีม่วง โดยทั่วไปมักพบบริเวณใบหน้า ลำคอ มักปรากฏอาการตั้งแต่แรกเกิด และจะคงอยู่ตลอดชีวิตไม่จางหายไป ปานจะมีสีเข้มขึ้น รวมทั้งอาจนูนหนาและขรุขระเพิ่มขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น มักมีแนวโน้มไวต่อฮอร์โมน คือจะเห็นชัดเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งครรภ์ หรือวัยทอง ส่วนใหญ่มักอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หากพบปานชนิดนี้บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจพบร่วมกับความผิดปกติของดวงตาและสมองได้ ควรรีบพาบุตรหลานไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไปครับ

ข้อควรระวังเกี่ยวกับปาน

  • ปานอาจเป็นอาการแสดงร่วมในโรคอื่น หากพบบริเวณหน้าผากและหนังตาบนหรือพบความผิดปกติของตาและระบบประสาท อาจเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า Sturge-Weber syndrome ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจอย่างละเอียด
  • ปานแดงเส้นเลือดฝอยอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เลือดออกง่าย แผลเปิด หรือ ปานมีการเติบโตที่เร็วผิดปกติ เป็นต้น หากสีของปานเปลี่ยนแปลงไป ผิวหนังนูนหรือบวมมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์

ปานมีหลายแบบ เช่น ปานมองโกเลีย ปานสีกาแฟใส่นม ปานแดงเส้นเลือดฝอย

วิธีการรักษา ปานโอตะ

ปานโอตะไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการกำจัดเม็ดสีที่ผิดความปกติอย่างปานโอตะด้วยการทำเลเซอร์ซึ่งเป็นวิธีที่เห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน แต่ควรเริ่มต้นการรักษาก่อนอายุ 5 ขวบจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่า และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้น้อยกว่า และสำหรับบางท่านอาจใช้วิธีการแต่งหน้าเพื่อปกปิดรอยจากปานได้เช่นกัน

  • การแต่งหน้า การตกแต่งใบหน้าอย่างเข้มหรือ Make up เป็นวิธีการทั่วไปที่ใช้บ่อยเพื่อกลบเกลื่อนรอยปาน แต่ต้องแต่งหน้าแบบนี้ไปตลอดชีวิต
  • การใช้เลเซอร์

การใช้ Picosecond Laser แบบความยาวคลื่น 755nm ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาปานโอตะ ที่เห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน โดยควรทำต่อเนื่องกันประมาณ 5-10 ครั้งเป็นอย่างน้อย (ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาในแต่ละคน) ห่างกัน 3-4 สัปดาห์/ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์ และนอกจากรักษาปานโอตะแล้วยังสามารถรักษา ปานดำ ฝ้า กระ จุดด่างดำ หลุมสิว รูขุมขนไม่กระชับ แม้กระทั่งรอยสักก็สามารถรักษาได้เช่นกันครับ

ขั้นตอนการรักษาด้วยเลเซอร์

  • หลังการทำความสะอาดผิวหน้า แพทย์จะทายาชาบริเวณที่จะยิงเลเซอร์ทิ้งไว้ประมาณ 45 นาที
  • เมื่อยาชาออกฤทธิ์แพทย์จะยิงเลเซอร์ Picosecond laser ที่มีความยาวคลื่นและปริมาณที่เหมาะสมลงบริเวณที่ต้องการรักษา
  • ช่วงที่ทำจะไม่รู้สึกเจ็บมากนักเพราะฤทธิ์ยาชา แต่หลังทำอาจมีอาการเจ็บบ้างหรืออาจมีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย
  • แพทย์จะทายาบริเวณที่ทำเลเซอร์เพื่อป้องกันการติดเชื้อและทำการปิดแผล
  • หลังจากนั้นแพทย์จะนัดมาติดตามผลการรักษา

การดูแลหลังทำเลเซอร์

  • ไม่ควรให้บริเวณที่ทำเลเซอร์ สัมผัสน้ำในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังทำ 
  • ใช้ยาทาแผล เช้า – เย็น ตามคำสั่ง ของแพทย์
  • หลังทำ 2 วัน แผลจะเริ่มตกสะเก็ด ห้ามแกะ เกาเด็ดขาดควรปล่อยให้หลุดเอง
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ๆ จนกว่าแผลจะหายดี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 วัน หลังจากนั้น ควรใช้ครีมกันแดดช่วยเวลาจำเป็นต้องออกแดด
  • หลังทำเลเซอร์อาจมีผิวแห้ง สามารถใช้ครีมบำรุงในกลุ่มมอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
Share the Post:

บทความอื่น ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
Scroll to Top